Tehran Conference (1943)

การประชุมที่เตหะราน (พ.ศ. ๒๔๘๖)

การประชุมที่เตหะรานเป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรกของผู้นำ ๓ มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรใน สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ได้แก่ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียต แฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ณ สถานเอกอัครราชทูตสหภาพโซเวียตประจำกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่านระหว่างวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน – ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ โดยมีระเบียบวาระสำคัญคือ การวางแผนทางยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่าง ๓ มหาอำนาจเพื่อทำให้ฝ่ายพันธมิตรได้รับชัยชนะในสงครามโดยเร็ว และการวางแผนการจัดระเบียบใหม่ (New Order) ให้แก่ ยุโรปภายหลังสงคราม รวมทั้งพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ต่อจากที่ได้วางแผนไว้แล้ว เป็นการประชุมที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะมหาอำนาจทั้งสามได้ให้สัญญาร่วมกันว่าจะเผด็จศึกให้เสร็จสิ้นในเร็ววัน รวมทั้งได้ตกลงปัญหาที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับสงครามและสันติภาพร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะความตกลงที่จะเปิดแนวรบด้านที่ ๒ (Second Front)* ในภาคพื้นทวีปยุโรปด้านตะวันตก โดยใช้ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด (Operation Overlord)* อันเป็นที่มาของการยกพลขึ้นบกที่อ่าวนอร์มองดี (Normandy) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสในวันดี-เดย์ (D-Day)* เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ เพื่อทำการปลดปล่อยยุโรปตะวันตกจากทางด้านฝรั่งเศส ซึ่งทำให้กองทัพฝ่ายพันธมิตรสามารถเอาชนะกองทัพนาซีได้ในที่สุด

 เมื่อสหภาพโซเวียตบุกโจมตีเยอรมนีในปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ซึ่งเป็นการละเมิดกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* ค.ศ. ๑๙๓๙ ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับเยอรมนีก็ขาดสะบั้นลงและเป็นการสิ้นสุดกติกาสัญญานาซี-โซเวียตโดยปริยาย เมื่อเชอร์ชิลล์ได้รับข่าวการโจมตีก็รีบฉวยโอกาสดำเนินการกระชับความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตเพื่อดึงสหภาพโซเวียตเข้ามาอยู่ในฝ่ายพันธมิตรโดยได้ประกาศร่วมสู้รบและให้การสนับสนุนทันที ประเทศทั้งสองได้ลงนามในความตกลงระหว่างกันเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ซึ่งอังกฤษสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือในด้านยุทโธปกรณ์แก่สหภาพโซเวียตในยามสงครามและทั้ง ๒ ฝ่ายยังตกลงว่าจะไม่แยกกันเจรจากับเยอรมนี อีก ๒ วันต่อมา สหรัฐอเมริกาก็ประกาศสนับสนุนสหภาพโซเวียตและจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้ในกลางเดือนสิงหาคม เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียตก็ได้ร่วมมือกันในฐานะพันธมิตรอันยิ่งใหญ่ (Grand Alliance) ทำสงครามต่อสู้กับมหาอำนาจอักษะ (Axis Powers)* อย่างเต็มที่ ทั้งยังมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเสนาธิการผสม (Combined Chiefs of Staff Committee) ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อให้ทำหน้าที่ประสานการปฏิบัติการในการรบและให้การสนับสนุนแก่สหภาพโซเวียต

 อย่างไรก็ดี แม้ว่าสงครามได้ขยายตัวออกไปในภูมิภาคต่าง ๆ ในลักษณะสงครามโลกตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๔๑ แล้วก็ตาม แต่จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๓ มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรทั้งสามก็ยังไม่มีการวางแผนทางยุทธศาสตร์ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ รวมทั้งยังมีความสับสนในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อใช้ทำสงครามในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย ทำให้มหาอำนาจทั้งสามระแวงสงสัยซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา ปัญหาสำคัญได้แก่ การเปิดแนวรบด้านที่ ๒ ซึ่งสหภาพโซเวียตต้องการให้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเปิดแนวรบทางด้านตะวันตกตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อดึงความสนใจของกองทัพนาซีให้หันมาตอบโต้ทางด้านตะวันตกแทนที่จะโจมตีกองทัพโซเวียตในแนวรบด้านตะวันออกแต่เพียงด้านเดียว เท่ากับเป็นการกดดันกองทัพนาซีให้ต้องทำศึก ๒ ด้านพร้อม ๆ กันซึ่งจะทำให้กองทัพนาซีอ่อนแอลงจนไม่สามารถเอาชนะกองทัพโซเวียตในแนวรบด้านตะวันออกได้ แต่จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๓ ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็ยังไม่ได้เปิดแนวรบด้านที่ ๒ โดยสหรัฐอเมริกาได้ให้เหตุผลว่าการส่งพลร่มไปลงบนภาคพื้นดินในยุโรปตะวันตกในขณะที่ยังไม่พร้อมจะทำให้เกิดการสูญเสียกำลังกองทัพเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้สหภาพโซเวียตไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังชัยชนะในยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ สตาลินวิตกกังวลว่าหากพันธมิตรตะวันตกไม่เปิดแนวรบด้านที่ ๒ สหภาพโซเวียตอาจพ่ายแพ้ในการรบครั้งต่อไป สตาลินซึ่งเชื่อมั่นในยุทธศาสตร์การรุกมากกว่าการตั้งรับเชื่อว่าการที่มหาอำนาจตะวันตกไม่ยอมเปิดแนวรบด้านที่ ๒ ขึ้นเกิดจากเหตุผลทางการเมืองด้วย ทั้งยังระแวงสงสัยว่าโรสเวลต์กับเชอร์ชิลล์อาจแยกไปลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitter)* ก็เป็นได้ สตาลินยังปักใจเชื่อว่านโยบายหลักของทุนนิยมตะวันตกคือการทำลายล้างการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต เขาจึงเร่งเร้าให้เปิดแนวรบด้านที่ ๒ เรื่อยมา

 ปัญหาต่อมาคือ ปัญหาความช่วยเหลือทางด้านการเงินและวัตถุซึ่งทั้งอังกฤษและสหภาพโซเวียตต่างต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากสหรัฐอเมริกาโดยเร็วเนื่องจากประเทศทั้งสองอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนอย่างหนักเพราะได้ต่อสู้ในสงครามมาเป็นเวลานานแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ อังกฤษกับสหรัฐอเมริกายังมีปัญหาตึงเครียดระหว่างกันในเรื่องที่สหรัฐอเมริกาต้องการให้อังกฤษปลดปล่อยอาณานิคมในดินแดนโพ้นทะเลหลังชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรซึ่งอังกฤษยังลังเลอยู่ ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ปัญหายุโรปตะวันออกที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษต่างแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าภายหลังการปลดปล่อยประเทศต่าง ๆ ที่กองทัพนาซียึดครองไว้ในระหว่างสงครามจะไม่ยอมปล่อยให้สหภาพโซเวียตจัดการกับยุโรปตะวันออกตามความต้องการเพียงประเทศเดียวปัญหาสุดท้ายคือเรื่องการกำหนดนโยบายร่วมกันของฝ่ายพันธมิตรในการจัดการกับเยอรมนีหลังเยอรมนีปราชัย

 นอกจากนี้ การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้นำ ๓ มหาอำนาจก็มีปัญหาเพราะยังไม่มีการพบปะหรือประชุมเจรจาระหว่างกันโดยตรง โดยทั่วไปเป็นเพียงการส่งโทรเลขหรือส่งผู้แทนมาเจรจาเท่านั้น แม้ว่าก่อนหน้านั้นผู้นำเหล่านี้จะได้มีโอกาสพบปะกันบ้างแล้ว แต่ก็เป็นเพียง ๒ ประเทศเท่านั้น เช่น การประชุมที่นครคาซาบลังกา (Casablanca Conference)* ในโมร็อกโกในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ก็เป็นการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกากับอังกฤษเพราะสตาลินไม่ได้ไปร่วมด้วย และการประชุมที่กรุงมอสโก (Moscow Conference)* ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ โรสเวลต์ก็ไม่ได้ไปร่วมประชุมด้วยด้วยเหตุนั้น ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ ผู้นำมหาอำนาจทั้งสามจึงเห็นเป็นความจำเป็นอันเร่งด่วนที่จะต้องมีการประชุมเจรจาระหว่างกันโดยตรงเพราะต้องการปิดฉากสงครามในยุโรปโดยให้เยอรมนียอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด เนื่องจากในขณะนั้นกองทัพผสมของฝ่ายพันธมิตรระหว่างอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาได้ยกพลขึ้นบกที่แอฟริกาตอนเหนือได้สำเร็จแล้ว ทั้งยังได้ยกพลขึ้นบกที่เกาะซิซิลี (Sicily) และเนเปิลส์ (Naples) ทางตอนใต้ของอิตาลี จนสามารถรุกเข้าสู่กรุงโรมได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ซึ่งทำให้รัฐบาลอิตาลีภายใต้การนำของเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ประกาศยอมแพ้แก่ฝ่ายพันธมิตรในเดือนกันยายนปีเดียวกันแม้ว่าการรบจะยังคงดำเนินต่อไป นอกจากนี้กองทัพสหภาพโซเวียตก็สามารถรักษาพื้นที่ในแนวรบด้านตะวันออกไว้ได้อย่างเต็มความสามารถ จนกองทัพนาซีพ่ายแพ้อย่างยับเยินในการรบ ๕๐ วันในยุทธการที่เมืองคุรสค์ (Battle of Kursk)* ระหว่างวันที่ ๕ กรกฎาคม – ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ พัฒนาการของสงครามดังกล่าวทำให้ฝ่ายพันธมิตรเชื่อมั่นว่าจะสามารถเผด็จศึกได้ในเร็ววัน ด้วยเหตุนั้น ทั้งเชอร์ชิลล์ โรสเวลต์ และสตาลินจึงได้ตกลงที่จะมาประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกหลังการประชุมที่ไคโร (Cairo Conference)* ประเทศอียิปต์ระหว่างวันที่ ๒๒–๒๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ ที่ได้กำหนดไปแล้ว แต่สตาลินไม่ได้ไปร่วมประชุมด้วย เพราะเป็นการประชุมว่าด้วยปัญหาสงครามในเอเชียตะวันออกซึ่งสตาลินไม่ต้องการให้มีผลกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับสหภาพโซเวียตตามสนธิสัญญาที่ได้ทำกันไว้เป็นเวลา ๕ ปี

 อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาในเรื่องสถานที่ประชุมเพราะสตาลินต้องการควบคุมสถานการณ์ในกรุงมอสโกอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ประธานาธิบดีโรสเวลต์มีปัญหาด้านสุขภาพไม่สามารถเดินทางไกลไปถึงสหภาพโซเวียตได้โดยสะดวก คงมีแต่เชอร์ชิลล์เพียงผู้เดียวที่สามารถเดินทางไกลได้ เขาได้เดินทางไปพบโรสเวลต์ในสหรัฐอเมริกามาแล้ว ๒ ครั้ง ทั้งยังได้ไปพบสตาลินที่กรุงมอสโกมาแล้ว ๒ ครั้งเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากการเจรจาเป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะสงครามได้ดำเนินมาถึงตอนสำคัญแล้ว โรสเวสต์จึงเอาใจสตาลินโดยเชิญชวนเขาให้เดินทางไปประชุมที่กรุงไคโร แต่สตาลินปฏิเสธเพราะเขาได้ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมที่กรุงไคโรไปแล้ว โรสเวลต์จึงเสนอให้พบกันที่กรุงแบกแดด (Bagdad) หรือที่เมืองบาสรา (Basra) ในประเทศอิรักแทนซึ่งสตาลินก็ยังไม่เห็นด้วย ในที่สุดเพื่อเป็นการประนีประนอมทั้ง ๓ ฝ่ายก็ได้ตกลงไปประชุมร่วมกันที่สถานเอกอัครราชทูตสหภาพโซเวียตประจำกรุงเตหะราน ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓

 ตามระเบียบวาระ การประชุมจะเริ่มในเวลา ๑๖ นาฬิกาของวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน สตาลินมาถึงก่อนเวลา ตามมาด้วยโรสเวลต์ซึ่งนั่งรถเข็นมาจากโรงแรมที่พักที่อยู่ใกล้ๆสถานที่ประชุมหลังจากเดินทางโดยเครื่องบินเป็นระยะทางถึง ๑๑,๒๐๐ กิโลเมตร จากสหรัฐอเมริกาเพื่อมาประชุม ขณะที่สุขภาพเริ่มทรุดโทรมลงอย่างมาก นับเป็นครั้งแรกที่โรสเวลต์กับสตาลินได้มาพบกัน ส่วนเชอร์ชิลล์เดินมาจากโรงแรมที่พักซึ่งอยู่ใกล้ ๆ สถานทูตพร้อมกับหัวหน้าเสนาธิการทหารอังกฤษ เขามาถึงหลังสตาลินและโรสเวลต์ราวครึ่งชั่วโมง เมื่อการประชุมเริ่มขึ้น ทั้งโรสเวลต์และเชอร์ชิลล์ได้ขอให้สตาลินให้ความมั่นใจว่าสหภาพโซเวียตจะให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือแก่ฝ่ายพันธมิตรในการกำหนดนโยบายสงครามอย่างเต็มที่ ซึ่งสตาลินก็ให้การรับรองอย่างแข็งขัน แต่ขอให้พันธมิตรตะวันตกให้การสนับสนุนการปกครองของตนในสหภาพโซเวียต รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่กองกำลังกู้ชาติยูโกสลาเวีย (Yugoslavia Partisans) และเมื่อสงครามยุติลงแล้วฝ่ายพันธมิตรต้องยอมให้สหภาพโซเวียตขยายพรมแดนทางด้านตะวันตกที่ติดต่อกับโปแลนด์ออกไปอีกจำนวนหนึ่งเป็นการตอบแทน ทั้งโรสเวลต์และเชอร์ชิลล์ต่างก็ยอมรับข้อเสนอเหล่านี้แต่โดยดี เพราะต้องการความร่วมมือในการกำหนดอนาคตของสงคราม ทั้งยังมีเรื่องอื่นที่เห็นว่ามีความสำคัญกว่าข้อเรียกร้องของสตาลินอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาต้องการให้สหภาพโซเวียตประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในตะวันออกไกลโดยเร็วที่สุด และต้องการความร่วมมือของสหภาพโซเวียตในการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศเพื่อรักษาสันติภาพของโลกแทนสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ที่กำลังจะล้มเลิกลง อีกทั้งสถานะของสหภาพโซเวียตในแนวรบด้านตะวันออกก็ทำให้สตาลินมีอำนาจในการต่อรองสูง มหาอำนาจทั้งสองจึงจำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไขของสตาลิน

 ต่อจากนั้นผู้นำ๓มหาอำนาจได้หารือกันเรื่องการเปิดแนวรบด้านที่ ๒ ซึ่งเป็นระเบียบวาระสำคัญที่สุดของการประชุมครั้งนี้ หลังการเจรจาระหว่างกันเป็นเวลานาน โรสเวลต์ เชอร์ชิลล์ และสตาลินได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันว่ากองทัพผสมของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเครือจักรภพ (Commonwealth)* จะเปิดแนวรบด้านที่ ๒ โดยการยกพลขึ้นบกเข้าบุกโจมตีฝรั่งเศสซึ่งเยอรมนียึดครองอยู่จากทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือผ่านทางช่องแคบอังกฤษในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ ตามแผน “ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด” ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหารที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งยังจะใช้ปฏิบัติการทางทหารจากทางด้านใต้ของฝรั่งเศสเข้าไปช่วยสนับสนุนอีกทางหนึ่งด้วย ในขณะที่กองทัพโซเวียตก็จะเปิดฉากโจมตีเยอรมนีจากแนวพรมแดนด้านตะวันออกพร้อม ๆ กัน เพื่อช่วยตัดกำลังกองทัพเยอรมันทั้งในด้านสมรรถนะในการรบและทรัพยากรสงคราม นอกจากนี้ มหาอำนาจทั้งสามยังได้ตกลงกันว่าคณะเสนาธิการทหารของ ๓ ประเทศ จะติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งสัญญาว่าจะร่วมมือกันรักษาความลับในการปฏิบัติการข้างต้นอย่างเต็มที่ การบรรลุข้อตกลงดังกล่าวทำให้บรรยากาศการประชุมดีขึ้นมาก แต่ทั้ง ๒ ฝ่ายก็ยังคงระแวงสงสัยระหว่างกันอยู่ เพราะโรสเวลต์และเชอร์ชิลล์หวาดวิตกว่ากองทัพแดง (Red Army)* จะสามารถบุกเข้ายึดกรุงเบอร์ลินเมืองหลวงของเยอรมนีได้ก่อนกองทัพของพันธมิตรตะวันตก ส่วนสตาลินก็เชื่อว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดแก่ตน อย่างไรก็ดี มหาอำนาจทั้งสามก็ได้เจรจาและวางแผนการทำสงครามในรายละเอียดร่วมกันต่อไป ส่วนเรื่องการประกาศสงครามกับญี่ปุ่นที่โรสเวลต์และเชอร์ชิลล์ได้พยายามโน้มน้าวสตาลินตลอดมานั้น สตาลินสัญญาว่าจะประกาศสงครามกับญี่ปุ่นเมื่อฝ่ายพันธมิตรได้รับชัยชนะเหนือเยอรมนีแล้ว โดยโรสเวลต์และเชอร์ชิลล์ยอมให้สหภาพโซเวียตได้ครอบครองหมู่เกาะคูริล (Kurile Islands) และอีกครึ่งหนึ่งของเกาะซาคาลิน (Sakhalin) ทางด้านใต้ รวมทั้งเส้นทางเข้าสู่เมืองท่าไดเรนหรือต้าเหลียน (Dairen;Dalian) และปอร์ตอาร์เทอร์ (Port Arthur) ในแหลมเหลียวตง (Liaodong Peninsula) ทางตอนเหนือของจีนเป็นการตอบแทนส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้จะมีการเจรจากันอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไปการให้คำมั่นของสตาลินครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จอย่างสูงของโรสเวลต์

 เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายสงครามทั่วไป คือ การชักชวนตุรกีให้เข้าสู่สงครามโดยเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร เพื่อทำให้แนวรบในตะวันออกกลางที่เชื่อมโยงกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและคาบสมุทรบอลข่านมีความเข้มแข็งขึ้น โรสเวลต์และเชอร์ชิลล์ได้พยายามโน้มน้าวรัฐบาลตุรกีโดยเสนอให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านกำลังกองทัพและเศรษฐกิจแก่ ตุรกี ในขณะที่สตาลินได้ให้การรับรองว่าในกรณีที่ตุรกีประกาศสงครามกับเยอรมนีและถูกบัลแกเรียซึ่งเป็นพันธมิตรของเยอรมนีประกาศสงครามหรือทำการโจมตี สหภาพโซเวียตจะเข้าช่วยเหลือและประกาศสงครามกับบัลแกเรียโดยทันที แต่ผู้นำตุรกีก็ยังไม่ได้ให้คำตอบที่แน่นอนเพราะตุรกีได้เคยตกลงไว้แล้วตั้งแต่การประชุมที่กรุงไคโรว่าจะเข้าสู่สงครามเมื่อกองทัพตุรกีได้รับการติดอาวุธอย่างเต็มที่แล้วเท่านั้นอย่างไรก็ดี มหาอำนาจทั้งสามก็คาดหวังว่าตุรกีจะเข้าสู่สงครามภายในสิ้น ค.ศ. ๑๙๔๓ นอกจากนี้ โรสเวลต์ เชอร์ชิลล์ และสตาลินยังได้ประชุมหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีอิหร่าน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และได้ขอบคุณผู้นำอิหร่านที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายพันธมิตรทั้งย้ำความสำคัญของอิหร่านในสงครามครั้งนี้ มีการตกลงจะให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลอิหร่านในด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากพันธกิจและความรับผิดชอบของมหาอำนาจทั้งสามที่มีต่อการทำสงครามในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ตลอดจนข้อจำกัดของการคมนาคมขนส่งในยามสงคราม

 ส่วนเรื่องอนาคตของเยอรมนีภายหลังสงครามซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากอีกเรื่องหนึ่งนั้นมหาอำนาจทั้งสามเห็นพ้องร่วมกันว่าจะยอมรับความพ่ายแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขของฝ่ายอักษะเท่านั้น และตกลงกันว่าจะแบ่งแยกเยอรมนีและดินแดนของประเทศที่แพ้สงครามออกเป็นเขตยึดครองภายใต้การควบคุมของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียต ต่อจากนั้นก็ได้พิจารณาปัญหายุโรปตะวันออกโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการขยายเขตแดนสหภาพโซเวียตออกไปทางด้านตะวันออกของโปแลนด์ตามที่โรสเวลต์และเชอร์ชิลล์ได้ตกลงกับสตาลินไปแล้วตั้งแต่เริ่มการประชุม การที่มหาอำนาจทั้งสองยอมตกลงกับสตาลินนั้นนอกเหนือจากเหตุผลทางการเมืองดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้นำมหาอำนาจทั้งสองยังเห็นว่าดินแดนด้านตะวันออกของโปแลนด์ที่สหภาพโซเวียตต้องการเป็นดินแดนที่ชาวยูเครน (Ukrainian) และรัสเซียขาว (White Russian) ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจของโปแลนด์อาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ สหภาพโซเวียตจึงสมควรได้รับดินแดนนี้เป็นการตอบแทนและโปแลนด์ก็จะได้ดินแดนส่วนหนึ่งในเยอรมนีด้านตะวันออกเป็นการชดเชยเช่นกัน ทั้งนี้ โดยการขยายพรมแดนของโปแลนด์ออกไปจนจดแนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอ (Oder-Neisse Line)* และแนวพรมแดนเคอร์เซิน (Curzon Line)* ซึ่งได้ทำขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๙ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ยุติลง นอกจากนี้ เชอร์ชิลล์ยังทราบดีว่าอนาคตของโปแลนด์ภายหลังสงครามมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ต่อสหภาพโซเวียตมากเพียงใด เพราะโปแลนด์เคยเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งในยุโรปมาเป็นเวลานาน ทั้งยังมีปัญหาขัดแย้งกับรัสเซียหลายครั้งในอดีต โดยเฉพาะสตาลินไม่เคยลืมว่าสหภาพโซเวียตได้พ่ายแพ้โปแลนด์ในสงครามรัสเซีย-โปแลนด์ (Russo-Polish War ค.ศ. ๑๙๑๙–๑๙๒๑)* รวมทั้งการที่โปแลนด์เป็นฐานที่มั่นของพวกที่ใช้อาวุธต่อต้านสหภาพโซเวียตตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมืองมาจนถึงทศวรรษ ๑๙๓๐ ฉะนั้น สตาลินจึงต้องการเข้าไปควบคุมโปแลนด์ทุกวิถีทาง ทั้งโรสเวลต์และเชอร์ชิลล์ต้องเลือกระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียตซึ่งในที่สุดก็ต้องยอมเสียสละโปแลนด์ให้แก่สหภาพโซเวียต อย่างไรก็ดี เรื่องการปรับขยายพรมแดนของโปแลนด์นี้ในขณะนั้นมหาอำนาจทั้งสามยังไม่ได้ให้การรับรองอย่างเต็มที่และต้องนำมาพิจารณากันอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อมา และเมื่อรัฐบาลพลัดถิ่นโปแลนด์ที่กรุงลอนดอนรู้ข่าวก็ได้ทำการประท้วงอย่างแข็งขันแต่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็เพิกเฉย ทั้งยังได้ยุติการให้การรับรองแก่รัฐบาลนี้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔

 นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยังตกลงจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แก่กองกำลังกู้ชาติยูโกสลาเวียภายใต้การนำของยอซีป บรอซหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ที่กำลังดำเนินการต่อสู้อยู่ในขณะนั้นทำให้สตาลินพึงพอใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี เมื่อโรสเวลต์ได้ขอให้สตาลินให้ความมั่นใจว่าการผนวกสาธารณรัฐลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนียเข้ากับสหภาพโซเวียตควรเกิดขึ้นหลังจากที่ประชากรในรัฐเหล่านั้นได้แสดงประชามติว่าจะรวมเข้ากับสหภาพโซเวียตหรือไม่ แต่สตาลินเห็นว่าปัญหานี้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียตเท่านั้น หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น สหภาพโซเวียตจะไม่ยอมให้มีอำนาจระหว่างประเทศเข้าไปควบคุมการเลือกตั้งเหล่านั้น

 ระเบียบวาระสุดท้ายที่ผู้นำ ๓ มหาอำนาจอภิปรายร่วมกันอย่างกว้างขวางและใช้เวลานาน คือ เรื่องการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ระหว่างการประชุมที่กรุงมอสโกในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และสหภาพโซเวียตได้ลงนามในคำประกาศระหว่างสี่มหาอำนาจ (Four-Power Declaration) ซึ่งในข้อ ๔ ได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้ง “องค์การระหว่างประเทศทั่วไป” (general international organization) ขึ้นเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและสันติภาพของโลกภายหลังสงคราม ฉะนั้น ในการประชุมที่เตหะราน โรสเวลต์ได้เสนอโครงร่างขององค์การดังกล่าวต่อสตาลิน ตามวิสัยทัศน์ของเขา องค์การที่จะจัดขึ้นนี้ (ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าองค์การสหประชาชาติ) ควรมีมหาอำนาจทั้งสี่ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพโซเวียต และจีนเป็นผู้ทำหน้าที่เป็น “ตำรวจทั้งสี่” (Four Policemen) ที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจแก้ปัญหาเร่งด่วนอันเป็นการคุกคามต่อสันติภาพของโลกร่วมกัน ข้อเสนอดังกล่าวเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งมีมหาอำนาจทั้งสี่เป็นสมาชิกถาวร (permanent members) ที่มีอำนาจในการใช้สิทธิยับยั้ง(veto right)ในเรื่องสำคัญๆสตาลินและเชอร์ชิลล์ต่างยอมรับข้อเสนอดังกล่าวและได้มีการเจรจาหารือในเรื่องต่าง ๆ ร่วมกันอีกหลายเรื่อง ทั้งยังตกลงร่วมกันว่าจะเชิญชวนประชาชาติต่าง ๆให้เข้าร่วมในองค์การนี้ด้วยเพื่อให้การทำงานในด้านการรักษาสันติภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นความสำเร็จที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการประชุมที่เตหะราน

 ตลอดระยะเวลา ๔ วันที่กรุงเตหะราน สตาลินได้แสดงบทบาทโดดเด่นที่สุดจนสามารถครอบงำการประชุมทั้งหมด เขาแสดงความสามารถในการตั้งข้อเรียกร้องและเสนอเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะทำให้สหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างเฉียบแหลมและชาญฉลาด ทั้งยังสามารถตอบคำถามโดยไม่มีข้อผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ บ่อยครั้งที่เขายกสถานะทางทหารและชัยชนะในการรบครั้งต่าง ๆ ในแนวรบด้านตะวันออกขึ้นมาอ้าง จนทำให้โรสเวลต์และเชอร์ชิลล์ไม่สามารถตอบโต้ได้ นอกจากต้องยอมให้ตามข้อเรียกร้องเหล่านั้นซึ่งดูเสมือนเป็น “การเอาใจ” สตาลิน บทบาทของสตาลินที่กรุงเตหะรานทำให้หลายคนในที่ประชุมตระหนักว่าสตาลินไม่ใช่บุคคลที่ผู้ใดจะออกคำสั่งให้เขาทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ อย่างไรก็ดี การประชุมก็ดำเนินต่อไปด้วยบรรยากาศแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกันจนยุติลง

 ในวันที่ ๑ ธันวาคมซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมโรสเวลต์ เชอร์ชิลล์ และสตาลินได้ลงนามร่วมกันในเอกสาร ๓ ฉบับ คือ Declaration of the Three Powers, December 1, 1943, Declaration of the Three Powers Regarding Iran, December 1, 1943 และ Military Conclusions of the Tehran Conference เอกสารเหล่านี้เป็นการสรุปสาระของการประชุมซึ่งแสดงถึงความหวังและการรวมพลังร่วมกันรวมทั้งความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียตในการเผด็จศึกในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และการสร้างสันติภาพอันถาวรให้เกิดขึ้นภายหลังสงคราม การประชุมที่เตหะรานจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อโชคชะตาของยุโรปในเวลาต่อมา.



คำตั้ง
Tehran Conference
คำเทียบ
การประชุมที่เตหะราน
คำสำคัญ
- กติกาสัญญานาซี-โซเวียต
- กองทัพแดง
- การประชุมที่กรุงมอสโก
- การประชุมที่ไคโร
- การประชุมที่เตหะราน
- การประชุมที่นครคาซาบลังกา
- คำประกาศระหว่างสี่มหาอำนาจ
- เครือจักรภพ
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ตำรวจทั้งสี่
- นาซี
- แนวพรมแดนเคอร์เซิน
- แนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอ
- แนวรบด้านที่ ๒
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด
- พันธมิตรอันยิ่งใหญ่
- มหาอำนาจอักษะ
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่เมืองคุรสค์
- ยุทธการที่สตาลินกราด
- ยูโกสลาเวีย
- ยูเครน
- วันดี-เดย์
- สงครามรัสเซีย-โปแลนด์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาลิน, โจเซฟ
- สหประชาชาติ
- สหภาพโซเวียต
- สัญญานาซี-โซเวียต
- สันนิบาตชาติ
- องค์การระหว่างประเทศทั่วไป
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1943
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๘๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-